มื้ออาหารคือ เวลากินข้าว

  • ทำไมลูกของเราถึงกินยาก เลือกกิน
  • จะกินข้าวแต่ละมื้อแสนจะเหนื่อย ต้องคอยเดินตามป้อน
  • ลูกชอบอมข้าว กินข้าวแต่ละครั้งใช้เวลาเป็นชั่วโมง
  • ถ้าไม่มีจอวางตรงหน้า ลูกจะงอแงมาก ไม่ยอมอ้าปากกินข้าวเลย
  • ลูกกินข้าวน้อยมาก ตัวผอม น้ำหนักไม่ขึ้นเลย
  • ฯลฯ

     เรื่องการกินจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เมื่อเราใส่ใจใน “ทัศนคติและวินัยในการกิน” สิ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝังและฝึกลูกคือ การสอนให้ลูกเข้าใจว่า “มื้ออาหารคือ เวลากินข้าว”

  • ไม่ใช่เวลาวิ่งเล่น
  • ไม่ใช่เวลาดูจอโทรทัศน์
  • ไม่ใช่เวลาดูจอไอแพด
  • ไม่ใช่เวลาเล่นของเล่น
  • ไม่ใช่เวลาเล่นโทรศัพท์

 

มื้ออาหาร แม้จะเป็นเรื่องกิจวัตรประจำวันเล็กๆ แต่ส่งผลถึงเรื่องพื้นฐานใหญ่ๆ ในด้านอื่นๆ ของชีวิต

“มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาที่ลูกจะได้เรียนรู้”

  • เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองโดยการกินข้าวด้วยตัวเอง
  • เรียนรู้ที่จะมีวินัย รู้หน้าที่และเวลา โดยการนั่งกินข้าวเป็นที่
  • เรียนรู้ที่จะมีมารยาททางสังคม เรียนรู้ว่า “เวลาไหนควรทำอะไร?”“มารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดีเป็นอย่างไร?”

 

     สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากที่บ้าน โดยการที่คนในครอบครัวทำเป็นแบบอย่าง เพื่อเมื่อลูกเติบโตขึ้น ลูกจะพร้อมเข้าสังคม รู้จักเคารพกฎกติกา และมีมารยาทในการอยู่ร่วมกับคนอื่น

     “มื้ออาหารคือ การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองช่วยเหลือตัวเอง” เมื่อลูกอายุ 6-7 เดือน เราสามารถฝึกให้ลูกกินข้าวด้วยตัวเองได้ โดยการฝึกให้ลูกลองหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าลูกจะยังใช้ช้อนส้อมไม่ถนัด มีเลอะเทอะบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากปลูกฝังจริงๆ คือการที่ลูกเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองขั้นแรก

     “มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องกฎกติกา” ก่อนเริ่มฝึกให้เราตกลงกับลูกให้ชัดเจนว่า “เราจะกินข้าวด้วยกันที่โต๊ะอาหาร 30 นาที ลูกนั่งที่เก้าอี้และนั่งกินด้วยตัวเอง ถ้าลูกไม่กิน เมื่อหมดเวลาพ่อแม่จะเก็บ ไม่มีของว่างระหว่างมื้อ ถ้าลูกหิวลูกจะต้องรอมื้ออาหารถัดไป”

     สิ่งสำคัญคือ ความชัดเจนในข้อตกลงของเรากับลูก เมื่อถึงเวลามื้ออาหารแล้วลูกเล่น ไม่ยอมกินก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อหมดเวลา 30 นาทีก็ให้เก็บทันที

     “มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาคุณภาพในครอบครัว” นอกจากคนในครอบครัวจะกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว คนในครอบครัวยังสามารถใช้ช่วงเวลานี้ พูดคุยกัน รับฟังกัน ให้กำลังใจกัน สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารคือ การใช้จอทุกชนิด เช่น การดูโทรทัศน์ การเล่นโทรศัพท์ การเล่นไอแพด เป็นต้น

     นอกจากลูกจะแยกแยะไม่ได้ว่า “เวลามื้ออาหารคือเวลาอะไร?” และ “มารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดีเป็นอย่างไร?” ยังจะลดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับลูก ลดโอกาสการทำความรู้จักลูก ทำให้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวในระยะยาวได้

     บางครอบครัวแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวด้วยการเปิดการ์ตูนให้ลูกนั่งดูไปด้วย ป้อนข้าวไปด้วย ผลลัพธ์คือ สร้างเงื่อนไขในการกินให้ลูกโดยไม่จำเป็น และยังกระทบต่อพัฒนาการของลูกอีกด้วย

     “มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาแห่งความสุข” ช่วงเวลาคุณภาพที่คนในครอบครัวจะนั่งร่วมโต๊ะกินข้าว กินแบบ “พอดีอิ่ม” ไม่ต้องกินให้ครบตามปริมาณที่ใครตักให้กิน กินแบบ “ไม่กดดัน” ไม่ต้องถูกบังคับให้กิน กินเพื่อให้ตัวเองอิ่มท้องและไม่หิว กินแบบ “มีความสุข”

  • ไม่ใช่กินเพื่อให้ใครมีความสุขหรือพอใจ
  • ไม่ใช่กินเพื่อหวังผลรางวัล เช่น ถ้ากินข้าวหมดจะได้กินไอศกรีม หรือ ถ้ากินผักจะได้ดูทีวี
  • ไม่ใช่กินเพื่อหวังคำชื่นชม เพราะมีคนคอยเชียร์หรือปรบมือ
  • ไม่ใช่กินเพราะกลัวการถูกตำหนิหรือทำโทษ

     “มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาฝึกพัฒนาการตามวัย” การฝึกให้ลูกกินข้าวด้วยตัวเองช่วยให้ลูกได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบจับอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกการเคลื่อนไหวในช่องปากซึ่งจะช่วยเรื่องการพูดเป็นอย่างมาก

“มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องผลของกระทำของตัวเอง” เมื่อถึงเวลากินข้าวแล้วลูกไม่กิน

  • ลูกจะเรียนรู้ว่า ไม่กินก็จะรู้สึก “หิว”
  • ลูกจะเรียนรู้ว่า เขาจะต้องทนหิวและต้องรอมื้ออาหารถัดไป
  • ลูกจะเรียนรู้ถึง “คุณค่า” ของอาหาร และจะเรียนรู้ที่จะ “ขอบคุณ” ที่เขามีอาหารให้กินในแต่ละมื้อ

     หรือเมื่อถึงเวลากินข้าวแล้วลูกเล่นอาหาร ปาอาหารลงพื้น เมื่อครบเวลา 30 นาทีแล้ว เขาต้องมาเก็บกวาดอาหารที่เขาปาลงพื้นด้วยกัน ลูกจะเรียนรู้ว่า ถ้าเขากินอาหารหก เลอะเทอะ เขาต้องรับผิดชอบโดยการเก็บกวาดด้วยตัวเองด้วย

     “มื้ออาหารคือ ช่วงเวลาที่ลูกจะสร้างตัวตน” เมื่อลูกกินข้าวด้วยตัวเองได้ เขาจะรู้สึกมีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ถ้าหากลูกไม่ได้มีโอกาสที่จะฝึกช่วยเหลือตัวเองเพราะมีคนคอยตามป้อนข้าวให้ตลอด ความมั่นใจนี้จะถูกบั่นทอนลง และจะส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ

สุดท้ายคือไม่มี “เด็ก” คนไหน ปล่อยให้ตัวเอง “หิว” มื้อไหนกินน้อยไม่เป็นไร ให้ดูภาพรวมรายสัปดาห์

สิ่งสำคัญกว่าปริมาณอาหารที่กินคือ “ทัศนคติและวินัยในการกินที่ดี” และสม่ำเสมอว่า “มื้ออาหารคือ เวลากินข้าว”

มาทำให้ช่วงเวลามื้ออาหารเป็นช่วงเวลาคุณภาพ ช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของลูกที่จะเตรียมตัวลูกให้พร้อมเผชิญกับโลกภายนอกกันค่ะ

เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวในการใส่ใจในเรื่องเล็กๆ ที่ไม่เล็ก ไม่ให้ความสำคัญกับจอมากกว่าลูก เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้โดยการไม่ตามป้อนข้าวลูก ใจดีแต่ไม่ตามใจค่ะ

(ขอขอบคุณบทความดีๆ จากแม่อิง เพจ : บันทึกแม่อิงเลี้ยงลูก https://www.facebook.com/MaeIngDiary)