ความในใจของเด็กดื้อและเอาแต่ใจ

ธรรมชาติของเด็กมีการพัฒนาสมองส่วนอารมณ์เร็วกว่าส่วนเหตุผล เด็กไม่ได้เกิดมาแล้วจะเข้าใจหลักเหตุผลโดยทันที หรือรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดีแต่เล็กๆ เด็กเล็กๆมีความซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองมาก รู้สึกอย่างไร ก็มักจะแสดงออกความรู้สึกออกไปอย่างนั้น เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้ถูกคิดไตร่ตรอง จึงไม่แปลกที่เมื่อรู้สึกไม่พอใจ ก็จะระเบิดความรู้สึกนั้นออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น

  • อยู่ๆก็งอแงขึ้นมา
  • อยู่ๆก็อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆลงๆ
  • บางครั้งร้องไห้ขอให้อุ้มตลอด
  • บางครั้งร้องไห้แต่ไม่ให้กอด ไม่ให้อุ้ม
  • บางครั้งไม่พอใจก็ลงไปดิ้นที่พื้น
  • บางครั้งโมโหก็กรีดร้องเสียงดัง
  • บางครั้งก็ตีตัวเอง ทำลายข้าวของ

หรืออีกหลายๆพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมา ไม่ใช่เพราะว่า เด็ก “ดื้อ” หรือ “เอาแต่ใจ” แต่เป็นเพราะเขากำลังพยายามสื่อสาร “ความในใจ” ของเขา

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เด็กแสดงออกมา เขาแค่อยากให้พ่อแม่ “สนใจ” ในตัวเขา เขาแค่อยากให้พ่อแม่ “ให้เวลาคุณภาพ” กับเขา เขาแค่อยากบอกพ่อแม่ว่า “เขารู้สึกไม่โอเคอยู่นะ” รู้สึกไม่พอใจ เหนื่อย ง่วงนอน หิว โมโห สับสน กลัว ตกใจ หรือเขาอาจจะยังไม่เข้าใจตัวเองว่า จริงๆ แล้วเขารู้สึกอะไรอยู่กันแน่
และด้วยศักยภาพที่จำกัดเพราะสมองอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา บวกกับ “ความเข้าใจในตัวเอง”ที่จำกัด และ “คำศัพท์สะท้อนอารมณ์” ไม่มากพอเพราะภาษายังไม่พัฒนาเต็มที่ เขาจึงทำได้เพียง…ระเบิดความรู้สึกที่ซับซ้อนนั้นออกมา หรือ

  • การที่เด็กถูก “ตามใจ” อยู่เรื่อยๆ
  • ไม่ได้ถูกฝึกให้รู้จัก “จังหวะชีวิต” ของตัวเอง
  • ไม่มีตารางเวลา กิน นอนที่คาดเดาได้
  • ไม่มีการฝึกวินัย หรือมีขอบเขตชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง
  • ไม่มีการฝึกให้มีหน้าที่การรับผิดชอบตามวัย
  • ไม่มีโอกาสได้ลองฝึกทำอะไรด้วยตัวเอง
  • จะลองทำอะไรก็ถูก “ห้าม” บ่อยๆ

ก็ทำให้เด็ก “เคยชิน” กับการต้องพึ่งพาคนอื่น และเมื่อคนอื่นทำไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เลยไม่พอใจและแสดงออกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา

เด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเรื่อยๆ ต่อเนื่องที่อาจจะถูกเรียกว่าเด็กดื้อหรือเอาแต่ใจ ไม่ใช่เพราะเขา “ดื้อ” หรือ “เอาแต่ใจ” จริงๆ แต่เพราะ”ความในใจ” ของเขายังไม่ได้ถูกรับฟังจริงๆ

ความในใจนั้นจะถูกเปิดเผยออกเมื่อสายสัมพันธ์ดี สายสัมพันธ์จะดีเมื่อมีเวลาคุณภาพให้กันและกัน

ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ใช้ “เวลาคุณภาพ” มากขึ้น อ่านหนังสือ เล่นตามวัย และทำงานบ้านด้วยกัน เพื่อทำความรู้จัก “นิสัย” และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การรู้จักนิสัยทำให้เข้าใจ “ตัวตน” ของเด็ก และมีแนวโน้มที่จะ “เข้าใจ” ความในใจของเขามากขึ้

เมื่อไหร่ที่เขางอแง กรี๊ดอาละวาด ให้มองว่าเป็น “โอกาสและส่วนหนึ่งของการเรียนรู้” เพื่อเติบโตขึ้น ลองใช้หลักง่ายๆ คือ อดทน ใจเย็น นุ่มนวล มั่นคง

  • อดทนรอจนกว่าเขาจะสงบ
  • ใจเย็นในการสื่อสาร หรือสอนตามความเหมาะสม
  • นุ่มนวลกับเขา กอด บอกรักและยอมรับในตัวเขา
  • มั่นคงในการรับมือกับสถานการณ์ด้วยสีหน้าที่สงบ ไม่ตื่นตะหนก

แล้วเขาจะเรียนรู้และเติบโตขึ้นจนผ่านวัยนี้ไปด้วยความรักและความเข้าใจ เป็นเด็กมีความสุขทั้งกายและใจ

(ขอขอบคุณบทความดีๆ จากแม่อิง

เพจ : บันทึกแม่อิงเลี้ยงลูก https://www.facebook.com/MaeIngDiary)