วิธีป้องกันลูกจากอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ตและการถูกกลั่นแกล้ง
การดูแลลูกๆ ให้ปลอดภัยจากอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ตและการถูกกลั่นแกล้งถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ เมื่อลูกๆ เริ่มเข้าโรงเรียนและออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น พวกเขาย่อมได้รับประสบการณ์ล้ำค่าและได้พบปะผู้คนใหม่ๆ แต่ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็จำเป็นต้องคอยดูแลสอดส่องลูกๆ ด้วยความเอาใจใส่อยู่เสมอ สิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงก็คือ
- แต่ละครอบครัวมีกฎกติกาที่แตกต่างกันไป พ่อแม่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะอนุญาตให้ลูกใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตตอนอายุเท่าไหร่ และจะอนุญาตให้ใช้ได้นานแค่ไหน ถ้าเพื่อนของลูกได้รับอนุญาตให้ใช้มือถือแล้ว นั่นหมายความว่าครอบครัวของเขามีกฎกติกาอีกแบบ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้กับลูกให้ชัดเจน
- เอาใจใส่และหมั่นพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ พ่อแม่ต้องคอยถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตของลูกและรับฟังอย่างตั้งใจ สังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีสิ่งใดแปลกไปหรือไม่ รวมถึงบอกลูกว่าถ้ามีเรื่องกังวลหรือปัญหาใด สามารถปรึกษาหรือพูดคุยกับพ่อแม่ได้เสมอ
อันตรายในโลกอินเทอร์เน็ต
พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกๆ ปลอดภัยจากอันตรายในโลกอินเทอร์เน็ตได้ด้วยการตระหนักอยู่เสมอว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ นั่นหมายความว่าพ่อแม่อาจกำหนดให้ลูกเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตในห้องที่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเท่านั้น หรืออาจใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมการใช้งานด้วยการกำหนดว่าเว็บไซต์ ภาพ และคลิปวิดิโอประเภทใดบ้างที่ลูกสามารถเข้าถึงได้
แต่การป้องกันไม่ให้ลูกๆ เข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสมอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ลูกจะไปพบข้อมูลเหล่านั้นโดยบังเอิญ พ่อแม่ต้องคอยย้ำเตือนกับลูกว่าสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้เสมอหาพบเจอข้อมูลใดก็ตามที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือวิตกกังวล
อย่าลืมบอกลูกเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการพูดคุยกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ พ่อแม่อาจตั้งกฎขึ้นมาว่าให้ลูกขออนุญาตก่อนที่จะพูดคุยกับบุคคลในอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลายคนใช้วิธีห้ามไม่ให้ลูกๆ ของตัวเองพูดคุยกับใครก็ตามที่พวกเขาไม่รู้จักในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น พ่อแม่อาจจับเข่าพูดคุยกับลูกเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎข้อนี้
ต่อไปนี้เป็นข้อห้ามพื้นฐานที่พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (เช่น ที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์)
- อย่าโพสต์รูปถ่ายของตัวเองก่อนได้รับอนุญาตจากพ่อแม่
- ผู้อื่นจะเห็นทุกอย่างที่โพสต์ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเอาไว้ในระดับใดก็ตาม
การถูกกลั่นแกล้ง
เด็กวัยประถมศึกษาถือเป็นวัยที่เรียนรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และสามารถทำความเข้าใจได้แล้วว่าการกระทำของตนเองจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดตามมา แต่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่คอยดูแลสอดส่องด้วย สิ่งที่ควรทำคือ พูดคุยเรื่องการกลั่นแกล้งกับลูก โดยอธิบายให้เข้าใจว่าเหตุใดการกลั่นแกล้งถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ และควรทำอย่างไรถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น วิธีหนึ่งในการทำเช่นนั้นคือ อ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์ที่มีตัวละครที่มีนิสัยชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น จากนั้นก็อธิบายให้ลูกฟังว่าการกระทำของตัวละครดังกล่าวส่งผลเสียอย่างไร โดยอาจใช้ประโยคดังต่อไปนี้
- “ตัวละครตัวนี้มีนิสัยชอบแกล้งผู้อื่น หนูเคยถูกแกล้งบ้างไหมจ๊ะ? แล้วหนูรู้สึกอย่างไร?”
- “หนูจะทำอย่างไรหากเห็นเด็กคนอื่นถูกแกล้งที่โรงเรียน?”
ถ้าลูกบอกว่าเคยถูกกลั่นแกล้ง พ่อแม่ต้องกระตุ้นให้ลูกมีความกล้ามากพอที่จะบอกคุณครู นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องส่งเสริมให้ลูกช่วยปกป้องเพื่อนที่ถูกแกล้ง แทนที่จะร่วมวงแกล้งด้วยหรือยืนเฉยๆ และไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าลูกถูกกลั่นแกล้ง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ
- มอบความรักและกำลังใจ พ่อแม่ต้องรับฟัง คอยปลอบโยน และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของลูกที่ถูกกลั่นแกล้ง
- แนะนำวิธีในการรับมือกับการถูกกลั่นแกล้ง พ่อแม่อาจแนะนำว่าลูกสามารถเพิกเฉย บอกให้คนที่กลั่นแกล้งหยุดการกระทำดังกล่าว หรือไม่ก็พยายามรวมกลุ่มอยู่กับเด็กคนอื่นๆ
- แจ้งคุณครูประจำชั้นหรือโรงเรียน วิธีนี้นับว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับการพยายามพูดคุยกับเด็กที่กลั่นแกล้งลูกหรือพ่อแม่ของเด็กคนนั้น