วิธีฝึกเชาวน์ปัญญาของเด็ก

เชาวน์ปัญญา หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อปัญหาอย่างเหมาะสม สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีจุดมุ่งหมาย สามารถคิดอย่างมีเหตุผล ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้

ขอขอบคุณภาพ pixabay.com
  • พันธุกรรมหากคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีระดับสติปัญญาค่อนข้างสูง เรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเรียนรู้และมีพัฒนาการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วตามไปด้วย
  • สิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมที่ดีและเอื้อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยส่งเสริมให้เชาวน์ปัญญาของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือคนในครอบครัว หากปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยมีครอบครัวคอยดูแลเอาใจใส่และมอบความรักความอบอุ่นให้อย่างสม่ำเสมอ เด็กก็จะมีสภาพจิตใจที่ดี และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
  • อายุระดับอายุที่พัฒนาการของเชาวน์ปัญญาถึงขั้นสูงสุดคือระหว่างอายุ 15-25 ปี เชาวน์ปัญญาเมื่อพัฒนาถึงขั้นสูงสุดจะค่อยๆ เสื่อมลงตามวัยแต่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แทบสังเกตไม่ได้ การเสื่อมของเชาวน์ปัญญาในแต่ละด้านอาจเสื่อมเร็วและช้าไม่เท่ากัน
  • เพศเพศชายมักมีความสามารถทางด้านการคำนวณ ถนัดทางกลไกการกระทำที่ใช้ไหวพริบ และความรวดเร็วดีกว่าเพศหญิง ส่วนเพศหญิงมักมีความคล่องแคล่วในการใช้มือ งานที่ต้องใช้ฝีมือ ลายละเอียด การใช้ภาษา ความสามารถทางภาษา และความจำดีกว่าเพศชาย
  • เชื้อชาติเด็กลูกผสมมักจะมีเชาวน์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ใช่ลูกผสม
  • ความผิดปกติทางสมองความผิดปกติทางสมองอาจมีผลต่อการเสื่อมลงของเชาวน์ปัญญาก่อนเวลาอันสมควร เช่น เนื้องอกในสมอง ลมชัก หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

 

เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้พัฒนาได้ ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจเด็กและช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาเชาวน์ปัญญาอย่างเต็มที่

 

วิธีการ

  1. เข้าใจธรรมชาติของลูก

เด็กแต่ละคนย่อมมีการเรียนรู้และพัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของลูก จากนั้นจึงจัดหากิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจหรือความถนัดของลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ก้าวหน้าโดยที่เขาไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันจนเกินไป

 

  1. เริ่มต้นจากกิจวัตรประจำวัน

กิจวัตรประจำวันก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ใช้ในการฝึกเชาวน์ปัญญาของเด็กได้ เช่น ฝึกให้ลูกจัดสิ่งของในครัวให้เป็นหมวดหมู่ หรือจัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ตามแต่ละประเภท ซึ่งนอกจากเด็กจะได้ฝึกพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาแล้ว ยังเป็นการฝึกให้ลูกเป็นคนมีระเบียบวินัย คุ้นชินกับการช่วยงานบ้าน และรู้จักเครื่องใช้ส่วนตัวได้อีกด้วย

 

  1. ใส่ใจพัฒนาการของลูกอยู่เสมอ

การที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาอยู่กับลูก และใช้เวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันอยู่กับเขาจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นพัฒนาการของลูกชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นพัฒนาการจากการเล่นของเขา คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การเล่นนี้ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ เพราะลูกจะรู้สึกสนุกสนานและเพลิดเพลิน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสังเกตพฤติกรรมการเล่น และคอยชี้แนะหากเขาเล่มเกมที่ไม่ถูกต้อง หรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้

 

  1. หากิจกรรมฝึกเชาวน์ปัญญา

กิจกรรมฝึกเชาวน์ปัญญาของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ เล่นเกมนับจำนวน เล่นเกมจับคู่ ต่อโดมิโน คุณพ่อคุณแม่สามารถคัดเลือกกิจกรรมที่ตรงกับความชอบและความถนัดของลูกผ่านการทดลองเล่นกับเขาได้ หากลูกชื่นชอบและสามารถทำได้ ให้คุณพ่อคุณแม่เพิ่มระดับความยากมากขึ้นไปอีกเพื่อท้าทายความสามารถของเขา แต่หากลูกทำไม่ได้หรือรู้สึกเครียด ให้เปลี่ยนเป็นกิจกรรมอื่น พร้อมทั้งให้กำลังใจเขาโดยไม่ตำหนิติเตียน

 

  1. เล่านิทานให้ลูกฟัง

เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบการเล่านิทาน หากคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานพร้อมทั้งชี้ชวนให้เด็กรู้จักสังเกต หรือเล่าไปถามคำถามไปด้วยพร้อมกัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิด และมีพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญาที่ดีขึ้นได้ เด็กจะได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงอย่างเป็นรูปธรรมผ่านตัวอย่างในนิทาน ซึ่งช่วยให้เด็กจดจำและเข้าใจได้ง่ายกว่าการเล่าเพียงอย่างเดียว

 

การฝึกเชาวน์ปัญญาของเด็ก สิ่งสำคัญคือการให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันเกินไป หากเด็กมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ เขาจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ที่ท้าทายความสามารถมากกว่าเดิม แต่หากเด็กรู้สึกไม่ชอบหรือเครียด เขาจะต่อต้านจนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าในที่สุด

แหล่งข้อมูล : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/57245/-parpres-par-