วันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?

     จำได้ว่าช่วงที่เรม่าเล็กๆ ประมาณสักสองขวบครึ่ง มีครั้งหนึ่งที่หม่ามี้จำเหตุการณ์ได้ขึ้นใจ ตอนนั้นเราไปที่สนามเด็กเล่นกันแล้วมีเด็กคนหนึ่งเททรายใส่ที่หน้าของเรม่า เศษทรายเข้าตาจนเรม่าลืมตาไม่ขึ้น พอหม่ามี้ถามเรม่าว่าเกิดอะไรขึ้น รู้สึกยังไงบ้าง เรม่าตอบว่า “I am hurt. I feel sad.” “เรม่าเจ็บ เรม่ารู้สึกเสียใจ”

     การรู้ทันอารมณ์ (Emotional awareness) เป็นทักษะที่สำคัญมากและต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน เด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปเป็นวัยที่เราสามารถสอนให้เขารู้ทันอารมณ์ของตัวเองได้ โดยเริ่มต้นจากการถามคำถามสั้นๆแต่ทรงพลังว่า “วันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?”

     ในช่วงแรกเราอาจจะต้องช่วยลูก “สะท้อนอารมณ์ของตัวเอง” เพราะลูกอาจจะยังไม่เข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองรู้สึกยังไงหรือยังสื่อสารไม่ถูก โดยการสอนให้ลูกรู้จักเรียกชื่ออารมณ์ต่างๆ อารมณ์ดีใจ เสียใจ น้อยใจ เศร้าใจ โกรธ หงุดหงิด เหงา ผิดหวัง กลัว ไม่พอใจ ช่วยเพิ่ม “คลังคำศัพท์ทางอารมณ์” ให้

ตัวอย่างเช่น

  • “ลูกร้องไห้เพราะลูกรู้สึกเสียใจ”
  • “ลูกไม่พอใจ รู้สึกโกรธที่มีคนแย่งของเล่นไป”
  • “ลูกหงุดหงิด เพราะเหนื่อย ง่วงนอน”
  • “ลูกดีใจ มีความสุขที่แม่เล่นด้วย”

เป็นต้น และไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ไหนก็ตาม ดีใจ เสียใจ โกรธ กลัว เหงา มองเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีผิดถูก

     ยิ่งลูกเข้าช่วงวัยใกล้สองขวบ เราจะสังเกตเห็นว่าลูกงอแงมากขึ้น ร้องไห้อาละวาดบ่อย เราอาจจะเคยได้ยินคนเรียกวัยนี้ติดปากว่า “วัยทองสองขวบ หรือ Terrible Two”

     สำหรับบ้านเรา เราจะหลีกเลี่ยงคำนี้และเรียกวัยนี้ว่า “สองขวบวัยมหัศจรรย์ หรือ Terrific two” แทน เพราะเราเห็นแบบนั้นจริงๆ ว่า วัยนี้ลูกเติบโตขึ้นมาก มีตัวตนมากขึ้น กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่แข็งแรงมากขึ้น ลูกอยากทำอะไรด้วยตัวเอง อยากเรียนรู้ที่จะใช้และทดสอบกำลังแขน ขาของตัวเอง ลูกพยายามสื่อสารกับเรามากขึ้น

     ส่วนหนึ่งที่เด็กวัยนี้งอแง อาละวาดบ่อยเพราะเป็นพัฒนาการตามวัย สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเร็วกว่าส่วนเหตุผล คลังคำศัพท์ทางอารมณ์ไม่เพียงพอ แต่สมองส่วนหน้าก็พร้อมทำงานแล้ว จึงเป็น “ช่วงเวลาทอง” ที่เราจะสอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์โดยเริ่มจากการหมั่นสังเกตลูก ทำความเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรและอยากจะสื่อสารอะไร แล้วช่วยสะท้อนอารมณ์ให้เพื่อให้ลูกรู้ทันอารมณ์ตัวเอง

     มองพฤติกรรมของลูกคือปัญหา…เราจะหงุดหงิดและอยากจัดการ มองพฤติกรรมของลูกคือการสื่อสารและพัฒนาการตามวัย…เราจะอยากเข้าใจและรับมือได้อย่างสงบใจ

     เด็กทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงวัยนี้ทุกคน คนเลี้ยงหลักจึงเป็น “คนสำคัญ” จริงๆ ที่จะทำให้ช่วงเวลาทองนี้เป็น “วัยมหัศจรรย์” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งดีๆ และเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีความสุขทั้งกายและใจ

     จำได้ว่าช่วงแรกๆ คลังคำศัพท์ทางอารมณ์เราก็ไม่มาก บางทีนึกไม่ค่อยออกว่า ความรู้สึกแบบนี้คือยังไง เรียกอารมณ์นี้ว่ายังไงกัน feeling chart หรือ feeling wheel วงล้อแห่งอารมณ์ช่วยได้มาก หลายความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเหมือนกัน พอมาดูวงล้อแห่งอารมณ์ก็เข้าใจมากขึ้น

(รูป : https://www.rewardcharts4kids.com)

     อารมณ์พื้นฐานโดยอ้างอิงจาก “วงล้อแห่งอารมณ์” ของ Robert Plutchik มีอยู่ 8 อารมณ์พื้นฐาน คือความรื่นเริง ความวางใจ ความกลัว ความประหลาดใจ ความเศร้า ความรังเกียจ ความโกรธ และความคาดหวัง

     โดยแต่ละอารมณ์หลักจะมีระดับความเข้มข้นที่ไล่จากน้อยไปมาก ทำให้แบ่งออกมาได้อีก เช่น ความรื่นเริงเริ่มมาจากความรู้สึกปลอดโปร่งไปสู่ความปิติยินดี การผสมผสานกันระหว่างอารมณ์พื้นฐานนี้ก็จะก่อให้เกิดอารมณ์ใหม่ด้วย เป็นต้น

     ส่วนตัวหม่ามี้เอง ปีนี้เข้าปีที่ 5 แล้วในการเส้นทางการเป็นแม่ เรื่องหนึ่งที่ท้าทายและไม่ง่ายเลยคือ การควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้สติหลุด เผลอวีนกับลูก ช่วงหลังมานี้หม่ามี้ไวต่ออารมณ์ตัวเองมากขึ้น พอรู้ตัวว่าไม่ไหว เหนื่อยมากๆ ดูลูกสามคนเดียวไม่ไหวจะรีบขอตัวช่วย ล่าสุดเมื่ออาทิตย์ก่อนปวดคอบ่าไหล่จนปวดหัวมาก ดูลูกไม่ไหว เลยขอเบรคไปหาหมอ ไปนวดรักษาสักชั่วโมง สามีก็ช่วยดูลูกสามคนให้ หรือวันไหนลูกๆงอแงมากๆพร้อมๆกัน หม่ามี้รู้ตัวว่ากำลังจะหมดความอดทน บอกลูกว่าหม่ามี้ขอไปสูดอากาศหลังบ้านสักหน่อย Time out ตัวเอง พร้อมรับมือใจเย็นลงก็ค่อยเดินกลับมาใหม่

“วันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?” ถามลูกและถามตัวเองบ่อยๆ ฝึกสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง มีสติ และควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ที่สุด

(ขอขอบคุณบทความดีๆ จากแม่อิง เพจ: บันทึกแม่อิงเลี้ยงลูก https://www.facebook.com/MaeIngDiary)